ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา แจกเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ฯ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักเอาไว้เพื่อใช้ในกรณีที่มีวิกฤติภัยต่างๆ ในโครงการ “กล้า อิ่ม สุข” รวมเมล็ดพันธุ์ 24 ชนิด ครอบคลุมการปลูก ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว

นางสาวเกษร จำปา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ทางศูนย์ได้มีการจัดทำโครงการ “กล้า อิ่ม สุข” ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ โดยมีการเตรียมต้นกล้าพันธุ์ไม้หลายชนิดเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง สำหรับบริโภคในครัวเรือน หรือนำไปขยายพันธุ์เพื่อปลูกเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ ซึ่งเมล็ดพันธุ์พืชที่แจกจ่ายในครั้งนี้เป็นเมล็ดพันธุ์พืชผักจำนวน 24 ชนิด จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ฯ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้สนับสนุนให้กับศูนย์ฯ ดำเนินการเพาะขยายเป็นเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ปลูกโดยระบบเกษตรอินทรีย์ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักเอาไว้เพื่อใช้ในกรณีที่มีวิกฤติภัยต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกของประชาชนเสียหายและมีปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกในฤดูกาลต่อไป โดยทางศูนย์ได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2560 เป็นต้นมา

“ขณะนี้เข้าสู่วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทางศูนย์ฯ ได้จัดทำโครงการ “กล้า อิ่ม สุข” เพื่อสืบสานแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างภูมิคุ้มกัน” ในการตั้งหลักใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางอาหาร โดยแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และผู้สนใจทั่วประเทศ เพื่อนำไปเพาะปลูก สามารถต่อยอดชีวิตที่ดีจากการบริโภคผักสดและปลอดภัยจากสารพิษ โดยโครงการดังกล่าวมีเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในธนาคารเมล็ดพันธุ์มากพอควร ที่จะนำออกมาแจกจ่ายจำนวน 14 ชนิดพันธุ์พืช และจากเครือข่ายที่เป็นเกษตรกรขยายผลรอบๆ ศูนย์ รวมทั้งเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ฯ อาทิ กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ที่เข้ามาร่วมโครงการ รวมแล้วเป็น 24 ชนิดพืช 3 กลุ่มหลักๆ ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 พืชอายุสั้น คือ มีอายุตั้งแต่ปลูกถึงการเก็บเกี่ยวระยะเวลา 45 วัน หรือประมาณ เดือนครึ่ง ก็สามารถเก็บผลผลิตมาบริโภคได้ เช่น ประเภทถั่วชนิดต่างๆ ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเปราะ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 เป็นพืชที่มีอายุปานกลาง คือใช้เวลาปลูกประมาณ 60-90 วัน หรือประมาณ 2 เดือน จึงจะเก็บผลผลิตได้ เช่น ข้าวโพด บวบ น้ำเต้า เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 เป็นพืชประเภทที่ต้องใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 3 เดือน หรือ 90 วันขึ้นไป จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ประกอบด้วย พริกขี้หนู มะละกอ ถั่วพู บวบ ชมจันทร์ เป็นต้น”

นางสาวเกษร กล่าว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการแบ่งประเภทเมล็ดพันธุ์พืชเนื่องจากเวลาแจกจ่ายแก่เกษตรกร หรือประชาชนจะมีการคละเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ เพื่อให้ปลูกได้ทั้ง 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะทำให้การเก็บเกี่ยวสามารถเชื่อมโยงกันได้ เช่น ปลูกพืชระยะสั้น ก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวถึงช่วงการปลูกพืชระยะกลาง และเก็บเกี่ยวได้นานไปจนถึงพืชระยะยาวออกผลผลิต โดยพืชระยะยาวจะสามารถเก็บเกี่ยวได้แบบข้ามปี อย่างมะละกอเมื่อเริ่มเก็บเกี่ยวแล้วจะมีผลผลิตอย่างต่อเนื่องร่วม 7 ปี สำหรับเมล็ดพันธุ์ทั้ง 24 ชนิดพืชนั้นประกอบด้วย

1) ถั่วฝักยาวพุ่ม  2) ถั่วฝักยาว  3) ถั่วเขียว  4) ถั่วดำ  5) ถั่วลายทหาร

6) ถั่วพู  7) ข้าวโพดฉัตรทอง  8) ข้าวโพดเทียนอยุธยา  9) กระเจี๊ยบแดง  10) กระเจี๊ยบเขียว

11) หมามุ่ยอินเดีย  12) มะเขือเปราะ  13) น้ำเต้า  14) อัญชัน  15) มะเขือหยกภูพาน

16) บวบเหลี่ยม  17) มะละกอ  18) พริกขี้หนู  19) ชมจันทร์  20) บวบหอม

21) กระเจี๊ยบมณีแม่โจ้  22) ถั่วสิรินธร 23) ข้าวโพดตักหงาย และ 24) ถั่วพูสีม่วง

ผู้สนใจส่งจดหมายภายในใส่ซองจดหมายเปล่าพร้อมติดแสตมป์ แล้วจ่าหน้าซองระบุชื่อ นามสกุล บ้านเลขที่ ตำบลที่อยู่ อำเภอ และจังหวัด พร้อมรหัสไปรษณีย์ อย่างชัดเจนถึงตัวเอง แล้วส่งมาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขที่ 7 หมู่ 2 ตำบลเขา หินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 24120 พร้อมระบุเมล็ดพันธุ์พืชผักที่ต้องการ โดยโครงการจะแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจท่านละ 1 ชุด ประกอบด้วยพืช 5 ชนิด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 081-686-0639 “ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2563 ศูนย์ศึกษาฯ จะดำเนินการเปิดอบรมให้ความรู้ขยายผลเรื่องการตอนกิ่ง การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลาน้ำจืด และการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ที่ทางศูนย์ฯ ได้ศึกษาทดลองและประสบความสำเร็จแล้วมาขยายผล ที่สำคัญจะมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน โดยจะมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เช่น การเว้นระยะห่าง การป้องกันในระหว่างการฝึกอบรมอย่างเข้มงวด โดยจะเน้นขยายผลสู่เกษตรกรที่อยู่รอบศูนย์ฯ ตามด้วยเกษตรกร หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น ผู้ที่ไม่มีงานทำและต้องการความรู้เหล่านี้เพื่อนำกลับไปทำที่บ้านของตนเองต่อไป” นางสาวเกษร กล่าว